ไซลิทอล Xylitol

ไซลิทอล (Xylitol) 

    ไซลิทอล(Xylitol) เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง พบได้จากเปลือกไม้ เช่น Birch หรือ Beech ผลไม้เปลือกแข็ง เช่น ถั่วเชสนัท และถั่ววอลนัท รวมถึงผักและผลไม้ เช่น กะหล่ำปลี มะเขือยาว สตรอเบอรี่ อีกทั้งยังพบในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ไซลิทอล ถูกนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย ไม่มีกลิ่นและให้ความรู้สึกเย็นลิ้นนิดๆเวลารับประทาน ไซลิทอลจะให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทั่วไป ประมาณร้อยละ 40 ในฉลากโภชนาการที่ใช้ในกลุ่มสหภาพยุโรปและอเมริการะบุไว้ว่า ไซลิทอลมีค่าพลังงานเท่ากับ 2.4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม


     นักวิจัยหลายกลุ่มได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ พบว่า น้ำตาลไซลิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่สามารถต้านการเกิดฟันผุได้ มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับผลการใช้ไซลิทอลแทนน้ำตาล เพื่อการป้องกันฟันผุ และพบว่าเมื่อรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลไซลิทอลซึ่งเป็นน้ำตาลที่จุลินทรีย์ทั่วไปในช่องปากไม่สามารถใช้เป็นแหล่งอาหารได้ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุ เหมือนการรับประทานน้ำตาลทั่วๆ ไป นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ไซลิทอลเป็นองค์ประกอบจะไม่เสื่อมเสียง่าย และเก็บไว้ได้นาน

 
     ในทางการแพทย์ มีการใช้ไซลิทอลเป็นอาหารทางสายของผู้ป่วย และเป็นอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากไซลิทอล ไม่ทำปฏิกิริยากับกรดอะมิโนทำให้การเตรียมอาหารเหลว สำหรับใช้ทางสายง่ายกว่าการเตรียมโดยใช้น้ำตาลกลูโคส และการใช้ไซลิทอลในร่างกายไม่ขึ้นกับสารอินซูลิน ทำให้ไม่มีปัญหาการใช้น้ำตาลกลูโคสของผู้ป่วย อีกทั้งไซลิทอล ยังเป็นสารให้ความหวานที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

     ผลของไซลิทอลในการป้องกันฟันผุ

     เมื่อไซลิทอลถูกนำมาใช้แทนน้ำตาลซึ่งเป็นส่วนผสมในหมากฝรั่ง โมเลกุลของไซลิทอลที่มีรูปร่างคล้ายกับน้ำตาลฟรุกโตสจะถูกดูดซึมผ่านผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ด้วยกลไกเดียวกับที่แบคทีเรียดูดซึมน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ หากเป็นน้ำตาลทั่วๆ ไป แบคทีเรียจะสามารถย่อยสลายโมเลกุลเหล่านั้นให้กลายเป็นสารไฮโดรคาร์บอนขนาดเล็ก พร้อมกับได้พลังงานมาใช้ในการดำรงชีวิต แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อไซลิทอลเข้าไปอยู่ในเซลล์ เอนไซม์ของแบคทีเรียไม่สามารถย่อยไซลิทอลให้กลายเป็นพลังงานได้ เมื่อไซลิทอลถูกดูดซึมเข้าไปภายในเซลล์ในปริมาณมากจะทำให้เกิดการสะสมสารไซลิทอลภายในเซลล์ของแบคทีเรียไปเรื่อยๆ จนทำให้แบคทีเรียรู้สึกราวกับว่ามัน “อิ่ม” แล้ว แต่ความเป็นจริง สิ่งที่มัน “กิน” เข้าไปแม้จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับอาหารประจำของมันแต่มันก็ไม่สามารถย่อยอาหารได้ นอกจากนี้ไซลิทอลยังสามารถยับยั้งการยึดอยู่บนเยื่อบุในช่องปากของแบคทีเรีย

     ไซลิทอล มีผลในการลดปริมาณฟันผุ โดยในการบริโภคไซลิทอลระยะสั้น จะช่วยลดปริมาณเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุในคราบจุลินทรีย์และน้ำลาย ส่วนในการบริโภคระยะยาวเป็นประจำ จะช่วยทำให้เชื้อลดความสามารถในการเกาะติดกับผิวฟันลงและหลุดจากคราบจุลินทรีย์ไปสู่น้ำลายได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของการลดการแพร่ของเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก

     ศ.ทพ.อากิระ ซูซูกิ ประธานสถาบันเพื่อการป้องกันฟันผุ ญี่ปุ่น-ฟินแลนด์ กล่าวว่า ฟันผุเกิดจากน้ำตาลและแบคทีเรีย เป็นลักษณะผุจากนอกสู่ในคือจากเคลือบฟันเข้าสู่เนื้อฟัน และถึงรากฟัน ควรดูแลไม่ให้ฟันผุด้วยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และการใช้ไหมขัดฟัน รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไซลิทอลเป็นส่วนผสม เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอล สามารถช่วยรักษาสุขภาพฟันได้ เนื่องจากไซลิทอลมีฤทธิ์เสริมประสิทธิภาพของฟลูออไรด์ในยาสีฟัน โดยยืนยันจากผลการวิจัยของ สมาคมทันตกรรมทั่วโลกหลายสมาคมว่า ควรเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอล 6-12 เม็ดต่อวัน เคี้ยวอย่างน้อย 5 นาที วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารมื้อหลัก และ“ที่ต้องเป็นหมากฝรั่ง ซึ่งมีไซลิทอลผสมร้อยละ 50 ขึ้นไป เพราะจากผลการวิจัยต้องให้ไซลิทอลอยู่ในปากไม่ต่ำกว่า 5 นาที

     จากการค้นคว้าวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารไซลิทอล 5 ครั้ง / สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงถึง 38% ในขณะที่ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารซอร์บิทอล ที่พบในหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลทั่วๆไป ในระยะเวลาเท่ากัน จะมีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงเพียง 9.7% และแน่นอนว่าหากเรายังเคี้ยวหมากฝรั่งธรรมดาที่ใช้น้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นซูโครสหรือกลูโคสเป็นส่วนประกอบในระยะเวลาเท่าๆกัน ก็ย่อมจะเป็นการเพิ่มปริมาณคราบ จุลินทรีย์ในปากให้ยิ่งมากขึ้น ฟันของเราจึงยิ่งเสี่ยงต่อการผุมากยิ่งขึ้น

     ปัจจุบัน สมาคมทันตแพทย์ชั้นนำในยุโรปกว่า 10 ประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ฯลฯ จึงให้การรับรองว่า “ การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของสารไซลิทอล หลังอาหารมื้อหลักและมื้อว่างครั้งละ 1-2 เม็ด โดยเคี้ยวนานอย่างน้อย 3 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ สามารถช่วยลดการเกิดฟันผุได้ ”

     นอกจากนี้ ในการศึกษาเกี่ยวกับการผุของฟันน้ำนมและฟันแท้ ยังพบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอลช่วยให้การสะสมแร่ธาตุคืนกลับของแคลเซียม และฟอสเฟตซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อฟันเพิ่มขึ้นมากกว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของซอร์บิทอล และหมากฝรั่งที่ผสมน้ำตาล โดยยังทำให้บริเวณรอยผุของฟันกลับแข็งขึ้นอีกด้วย

     สำหรับหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมทั้ง ไซลิทอล และซอร์บิทอล พบว่าจะยิ่งเสริมประสิทธิภาพช่วยลดปัญหาคราบจุลินทรีย์ได้ดีกว่าหมากฝรั่งที่มีซอร์บิทอลเพียงอย่างเดียว ใช่ว่าการบริโภคอาหารที่มีไซลิทอลอย่างเดียวจะช่วยทำให้ฟันไม่ผุ นี่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่เป็นทางเลือกที่ช่วยในการป้องกัน สำหรับการป้องกันและรักษาไม่ให้ฟันผุนั้นต้องแปรงฟันอย่างถูกวิธี และตรวจฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำทุกปีด้วย

     นอกเหนือจากผลที่ช่วยในเรื่องป้องกันฟันผุแล้ว ไซลิทอลยังมีส่วนช่วยในเรื่องการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบอีกด้วย จากการวิจัยพบว่า ไซลิทอลสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ โดยการยับยั้งการกระตุ้นการหลั่งสารที่มีผลต่อการทำลายอวัยวะปริทันต์

     ผลข้างเคียงของไซลิทอล

     หากกินมากเกินไป จะทำให้เกิดความไม่สบายของระบบทางเดินอาหาร และท้องเสียโดยเฉพาะเมื่อทานในรูปของเหลวขณะท้องว่าง ดังนั้นจึงไม่ใช้ไซลิทอลในการเติมลงในเครื่องดื่มชนิดต่างๆ

 

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ยาสีฟัน 4Life  (เพิ่มภูมิคุ้มกันในช่องปาก)

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2