น้ำมันปลา…กินแล้วได้อะไร ?

น้ำมันปลา…กินแล้วได้อะไร ? 

     น้ำมันปลา (Fish oil)  เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากส่วนต่างๆของปลา  โดยเฉพาะปลาในเขตหนาว น้ำมันปลาประกอบไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ( Omega-3 ) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว จัดเป็นกรดไขมันจำเป็นซึ่งร่างกายสร้างไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ถ้าขาดจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทและการมองเห็นกรดโอเมก้า3  เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างเนื้อเยื่อร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน การมองเห็น การสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ และการสร้างสารคล้ายฮอร์โมนไอโคซานอยด์

     กรดไขมันโอเมก้า 3 ประกอบไปด้วยกรดไขมันจำเป็น 2 ชนิด คือ EPA ย่อมาจาก Eicosapentaenoic acid และ DHA ย่อมาจาก Docosahexaenoic acid  กรดดีเอชเอมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและดวงตาของทารก  มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงการขาด DHA กับอาการของโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder) โดยเด็กที่มีปัญหา ADHD จะมี DHA ต่ำกว่าปกติ และเมื่อได้รับการเสริมโอเมก้า 3 พบว่าเด็กมีอาการดีขึ้น  การค้นพบดังกล่าวทำให้นิยมเสริม DHA ในอาหารสำหรับเด็ก  ส่วนในผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาอัลไซเมอร์  พบว่าการเสริมน้ำมันปลาจะช่วยให้ DHA ในสมองสูงขึ้น และลดอาการซึมเศร้าลงได้

     นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตว่าชาวเอสกิโมซึ่งรับประทานปลาเป็นอาหารหลักเกิดปัญหาเส้นเลือดอุดตันที่น้อยมากระดับไขมันในเลือดต่ำและการเกาะกันของเกล็ดเลือดน้อยกว่าชาวเดนมาร์กที่รับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นอาหารหลัก

 

     น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลาเหมือนกันหรือไม่

     น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลาต่างกันตรงที่น้ำมันปลาได้มาจากการสกัดน้ำมันจากส่วนเนื้อ หนัง หัวและหางปลาทะเล ส่วนน้ำมันตับปลาสกัดจากตับปลาทะเลโดยตรง ซึ่งมีวิตามินเอและดีสูง แต่ก็มีกรดโอเมก้า 3 อยู่ด้วยในปริมาณเล็กน้อย หากจะเสริมน้ำมันตับปลาให้ได้โอเมก้า3 ตามที่กำหนด อาจทำให้ได้รับวิตามินเอและดีมากเกินจนเกิดพิษได้ ดังนั้นหากหวังผลเรื่องโอเมก้า 3 ควรเลือกน้ำมันปลาจะดีกว่า

 

     ร่างกายได้รับกรดไขมันอีพีเอและดีเอชเอจากที่ใด

     ร่างกายได้รับกรดไขมัน EPA และ DHA จากปลาทะเล โดยเฉพาะปลาในเขตหนาว เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ฯลฯ ส่วนปลาทะเลไทย เช่น ปลาทู ปลากะพง ปลาตาเดียว และยังพบในปลาน้ำจืดบางชนิด เช่น ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาดุกนา โดยพบว่าการรับประทานปลาทะเล 200-300 g./วัน  จำนวน 2-3 ครั้ง/สัปดาห์  สามารถเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 ในอาหารได้โดยเฉลี่ย 0.2-0.5 g./วัน

     แต่ขั้นตอนในการปรุงอาหารจะต้องถูกวิธี ไม่ทำให้เกิดการสลายตัวของกรดไขมันโอเมก้า 3 และพบว่า “การทอด” เป็นวิธีที่ทำให้ปลาสูญเสียกรดไขมันโอเมก้า 3 มากที่สุด

  

     ประโยชน์ของน้ำมันปลาต่อสุขภาพ

     น้ำมันปลากับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด 

   จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า น้ำมันปลาช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากน้ำมันปลายับยั้งการดูดซึมไขมันที่ทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกล็ดเลือดรวมตัวกันช้าลง  ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามผนังหลอดเลือดยากขึ้น จึงลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

     วารสาร Lancet เดือนกันยายน 2542 ได้รายงานผลการศึกษาการให้น้ำมันปลาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 20,000 คน พบว่า  น้ำมันปลาสามารถลดอัตราการตายและอัตราการป่วยซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยในวารสารการแพทย์ใน New England ที่พบว่าผู้เข้าร่วมทำการวิจัยที่ได้รับ

     น้ำมันปลาจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับน้ำมันปลาให้ผลค่อนข้างดีในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการรับประทานน้ำมันปลาวันละ 3-4 กรัม สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ในคนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง แต่การนำมาใช้ในทางปฏิบัติยังต้องมีการศึกษาข้อมูลกันต่อไปในอนาคต เนื่องจากในทางคลินิกวิทยายังไม่มีการระบุว่าเหมาะกับการใช้ในผู้ป่วยและต้องใช้ในปริมาณสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เป็นต้น

 

     น้ำมันปลากับการใช้ในผู้ป่วยแผลไฟไหม้ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด

     ในสภาวะที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บ มีแผลผ่าตัด ไฟไหม้ หรือมีการติดเชื้อ จะมีสารพรอสตาแกลนดิน (PGE2) ชนิดหนึ่งถูกหลั่งออกมามาก ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กดการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เชื่อกันว่า น้ำมันปลาอาจลดการสร้างสารดังกล่าวมีการศึกษาโดยให้อาหารที่เสริมด้วยน้ำมันปลาแก่ผู้ป่วยแผลไฟไหม้ พบว่า สามารถลดการติดเชื้อ ลดอัตราการตาย และลดจำนวนวันที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลให้สั้นลง ซึ่งผลที่ได้สอดคล้องกับการศึกษาที่ให้อาหารเสริมน้ำมันปลาแก่ผู้ป่วยหลังผ่าตัด

 

     น้ำมันปลากับการลดปัญหาโรคข้อเสื่อม

     จากงานวิจัยพบว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดอาการของโรคข้อเสื่อม ปวดข้อ และสามารถลดการใช้ยาแก้ปวดลดอักเสบลงได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันปลาในการบำบัดโรคข้อเสื่อมยังต้องการข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมอีกมาก

 

     ประโยชน์อื่นๆ ของน้ำมันปลา

     ข้อมูลการวิจัยยังพบว่า น้ำมันปลาช่วยลดอาการคันและแดงของโรคเรื้อนกวางหรือโรคสะเก็ดเงิน ช่วยลดอาการซึมเศร้า ช่วยให้การรักษาทางเคมีบำบัดดีขึ้นและลดผลข้างเคียงทางเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามไม่ควรหวังผลการรักษาจากการใช้น้ำมันปลา เนื่องจากยังมีข้อมูลการศึกษาไม่เพียงพอ

 

     ควรบริโภคน้ำมันปลาเท่าไร

     แนะนำให้รับประทานปลาทะเลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 90g. ให้กรด EPA และ DHA รวมแล้วประมาณวันละ 500 mg 

     นักโภชนาการจาก Food And Nutrition Board of the National Academy of Science แนะนำให้รับประทานโอเมก้า 3 วันละ 1.1 g. สำหรับผู้หญิง และ 1.6 g.สำหรับผู้ชาย การเสริมน้ำมันปลาจะให้ผลในเวลา 2-3 สัปดาห์ แต่ในผู้ที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดและข้อเสื่อมอาจใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะเห็นผล 

     การวิจัยแนะนำว่า การรับประทานกรด EPA และ DHA วันละ 0.5-1.8 g. ในรูปปลาทะเลหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการตายจากโรคหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ

     อย่างไรก็ตามควรระลึกไว้อยู่เสมอว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาที่ขึ้นทะเบียนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา ดังนั้นจึงไม่สามารถยืนยันได้ถึงผลในการรักษา ส่วนน้ำมันปลาเข้มข้นพิเศษซึ่งจัดเป็นยาที่จำหน่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ยังไม่มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป

 

     ข้อควรระวังในการรับประทานน้ำมันปลา

     - ปลาทะเลที่มีโอเมก้า 3 สูงมักจะเสี่ยงต่อสารพิษตกค้าง เช่น สารปรอท เนื่องจากภาวะมลพิษทางทะเลในถิ่นที่ปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปลาบางชนิด เช่น ปลาดาบ ปลาฉลาม ปลาคิงแมคเคอเรล เป็นต้น

     - น้ำมันปลาอาจลดระดับวิตามินอีในเลือด เนื่องจากร่างกายต้องใช้วิตามินอีไปป้องกันการเกิด

ออกซิเดชันของกรดไขมัน จึงควรเสริมวิตามินอีควบคู่กันไป

     - ควรระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์ เพราะทารกอาจพิการจากพิษของวิตามินเอ และเลือดไหลไม่หยุดขณะคลอด

     - ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ หรือผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความผิดปกติของหลอดเลือดจึงมีความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก ผู้ที่มีประวัติการแพ้อาหารทะเลและยาบางอย่าง (เช่น แอสไพริน)

     - การใช้ในขนาดสูง (5-10 กรัมต่อวัน) อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย เรอมีกลิ่นคาวปลา เลือดไหลไม่หยุด เกิดพิษจากวิตามินเอและดีเกินขนาด

     - ระวังการใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะอาจทำให้สมดุลของไขมันเสีย ดังนั้นการบริโภคน้ำมันปลาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

     - ระวังการใช้น้ำมันปลาร่วมกับ Aspirin, Enoxaparin และ Warfarin เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 จะทำให้เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ 

     จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้น้ำมันปลาในการลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนใช้ลดหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว แต่การนำมาใช้ในทางปฏิบัตินั้น ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ในปริมาณสูง และยังไม่มีการศึกษาถึงความเป็นพิษในระยะยาว นอกจากนี้น้ำมันปลายังมีราคาค่อนข้างสูง ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค คือ การรับประทานปลาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะได้กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เพียงพอ ร่วมกับการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยรับประทานผักผลไม้ให้มาก และเลี่ยงเนื้อติดมัน และออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะไม่เกิดปัญหาไขมันในเลือดสูง

 

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ไบโอ อีเอฟเอ (Bio EFA) : กรดไขมันจำเป็น ประกอบด้วย Omega 3, Omega 6, น้ำมันแฟลกซ์, น้ำมันบอราจ, น้ำมันดอกคำฝอย  ช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด บำรุงสมอง สายตา ระบบประสาท ลดการอักเสบ

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2