โรคไวรัสตับอักเสบบี

                             รคไวรัสตับอักเสบบี

     เป็นโรคที่พบบ่อยมากในประเทศแถบทางเอเชีย  ในอดีตเมื่อสิบกว่าปีก่อนคนไทยติดเชื้อไวรัสนี้เกือบ 10% ของประชากร  ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อลดลงเหลือประมาณ 4% ในผู้ใหญ่  เอาเป็นตัวเลขง่ายๆก็คือ ปัจจุบันคนไทยประมาณ 4-5 ล้านคนมีเชื้อไวรัสบี  หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับเด็กแรกเกิดทุกคนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา  เดี๋ยวนี้เด็กไทยมีไวรัสบีเหลืออยู่ประมาณไม่ถึง 1% ในอีกสี่ห้าสิบปีข้างหน้าเราอาจจะไม่ค่อยเห็นโรคนี้ในคนไทย มะเร็งตับก็จะลดลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัจจุบันโรคนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญและใหญ่มากของคนไทย  คนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสบี มาโรงพยาบาลครั้งแรกก็พบตับแข็งหรือมะเร็งตับแล้ว
 
    ไวรัสบีทำให้เกิดโรคตับได้ตั้งแต่แบบเฉียบพลัน เรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับปฐมภูมิ  คนทั่วไปมักได้ยินคำว่า "พาหะไวรัสบี" หรือเป็นแค่พาหะไม่ต้องทำอะไร ไปตรวจกับแพทย์แล้วก็ไม่เห็นแพทย์แนะนำอะไร ก็เลยไม่ไปตรวจต่ออีก 
 
    เชื้อไวรัสบีติดต่อกันทางเลือดและเพศสัมพันธ์ ไม่ติดทางอาหารหรือการสัมผัสใกล้ชิด คนไทยที่มีเชื้อไวสบีในยุคปัจจุบันมักได้รับเชื้อมาจากมารดาขณะคลอด สังเกตุได้จากการมีพี่น้องในครอบครัวมีเชื้อไวรัสบีเช่นกัน หรือตรวจพบว่ามารดาเคยเน หรือขณะนี้หายแล้ว มีภูมิต้านทานต่อไวรัสบีแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อติดมาตั้งแต่เกิดมักจะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ไวรัสกับร่างกายจะมีปฎิสัมพันธ์หรือมีการต่อสู้กัน ไวรัสก็หาทางอยู่รอดในตับด้วยวิธีต่างๆ ร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายไวรัสเป็นระยะๆ ชนะบ้าง แพ้บ้าง ที่อยากให้ทราบไว้เพื่อความเข้าใจก็คือ จะต้องรู้ว่าตอนนี้เป็นโรคอยู่ในระยะใด จะให้การรักษาเมื่อใด

      ระยะของโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังพอจะแบ่งได้ดังนี้

     1. ระยะแรกที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่ทำลายไวรัส ช่วงนี้พบบ่อยในวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่อายุไม่มาก ไวรัสอาศัยอยู่ในตับและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมาก แต่ตับกลับไม่มีการอักเสบ ค่าการอักเสบไม่สูงเกินค่าปกติ ร่างกายเราคิดว่าไวรัสเป็นอะไรที่ไม่เป็นอันตราย เลยไม่มีปฎิกิริยาต่อกัน ระยะนี้ค่อนข้างจะปลอดภัย แต่ต้องคอยตามต่อไปว่าจะเข้าสู่ระยะไหนต่อ

     2. ระยะตับอักเสบระยะแรก หรือภูมิต้านทานของร่างกายเริ่มไปทำลายไวรัส ช่วงนี้ร่างกายเริ่มรู้ว่าไวรัสเป็นศัตรู  ภูมิของร่างกายจึงไปทำลายไวรัสพร้อมๆกับทำลายเซลล์ตับไปด้วย เพราะไวรัศอาศัยอยู่ในเซลล์ตับ ถ้าเกิดการอักเสบแล้วร่างกายชนะ ก็จะเข้าสู่ระยะที่สาม(ที่เรียกว่าพาหะชั้นดี) ถ้ารบกันแล้วไม่ชนะสักที ตีกันไปตีกันมาระหว่างภูมิกับไวรัสโดยมีเซลล์ตับเป็นสนามรบ ในที่สุดตับก็โดนทำลายไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายปีก็เกิดตับแข็งตามมา ระยะนี้ตรวจพบค่าการอักเสบ (SGOT และ SGPT) สูงกว่าปกติ จำนวนไวรัสในเลือดสูงมาก โปรตีนของไวรัสบีที่เรียกว่า อีแอนทิเจน (HBeAg) ให้ผลบวก อาจจะเรียกระยะนี้ว่าเป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบีระยะอีบวก ใครเป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี ควรถามแพทย์ว่าอยู่ระยะอีบวกหรืออีลบ ระยะนี้ควรให้การรักษา

     3. ระยะพาหะ จริงๆแล้วคำว่าพาหะหมายถึงเชื้ออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่เชื้อได้ ถ้าแปลตามความหมายของคำแล้ว ระยะที่1, 2 และ 4 ก็เป็นพาหะเช่นกัน แต่เป็นพาหะชนิดไม่ปลอดภัย อยากจะใช้คำเรียกระยะที่ 3 นี้ว่า "พาหะชั้นดี" ภาษาแพทย์ใช้คำว่า Inactive Carrier ระยะนี้ร่างกายรบชนะไวรัส จำนวนไวรัสในเลือดลดลงมากหรือตรวจไม่พบ ค่าการอักเสบของตับก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ โปรตีนอีก็เป็นลบ คนส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในระยะนี้ แล้วมักจะอยู่ในระยะนี้ไปอีกนาน แต่โรคสามารถกลับไปกลับมาได้ ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้อยู่บ้าง ฉะนั้นจะต้องติดตามคอยดูแลร่วมกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน ระยะนี้ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา เวลาแพทย์ให้ยารักษาโรคไวรัสบีสำหรับผู้ป่วยระยะ 2 และ 4 ก็เพื่อจะเปลี่ยนให้กลับมาสู่ระยะนี้ แพทย์จะใช้คำว่าหาย ก็หมายถึงกลับเข้าสู่ระยะพาหะชั้นดี

     4. ระยะตับอักเสบชนิดอีลบ ระยะนี้ไวรัสหาทางหนีรอดจากภูมิต้านทานของร่างกาย หมอตรวจเลือดดูก็คล้ายกับระยะที่ 3 คือ โปรตีนอีเป็นลบ (HBeAg ลบ) แต่ตรวจพบค่าการอักเสบของตับสูงเกินค่าปกติเป็นช่วงๆ ตรวจไวรัสในเลือดจะพบจำนวนสูงมาก ระยะนี้ร่างกายกับไวรัสพยายามต่อสู้กันอีก คล้ายๆกับในระยะที่ 2 จึงเกิดตับอักเสบเรื้อรัง เรียกตับอักเสบเรื้อรังระยะอีลบ ระยะนี้รักษาค่อนข้างยากกว่าระยะที่ 2 โอกาสหายน้อยกว่า แต่ก็จำเป็นต้องให้การรักษา

     5. ระยะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสบี เมื่อร่างกายชนะต่อไวรัส ไวรัสถูกทำลายไปเกือบหมดสิ้น ถึงตอนนี้ถ้าตรวจเลือดดู จะพบค่าภูมิต้านทานของร่างกายต่อไวรัสมีผลบวก โดยมีระดับของภูมิสูงหรือต่ำแล้วแต่คน หรือทางการแพทย์เรียกว่า ตรวจพบภูมิต้านทานต่อผิวของไวรัสบี (AntiHBs) ระยะนี้จะตรวจไม่พบไวรัสบีในเลือด ไม่พบ HBsAg (โปรตีนบริเวณผิวของไวรัสบี) และไม่พบภาวะตับอักเสบ บางคนได้รับการรักษาไวรัสบีด้วยยาต่างๆแล้ว อาจตอบสนองดีจนหายเข้าสู่ระยะที่มีภูมิต้านทานก็เป็นได้

     ยารักษาโรคไวรัสบี

     ยาที่ใช้ในการรักษาพอจะแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ยากระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย และยาที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสบี ผลการรักษาโดยเฉลี่ยแล้วมีโอกาสหายประมาณ 30% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อีก 70% ที่เหลือถ้ายังไม่หายจะไม่ให้การรักษา เพราะเราสามารถให้ยาเพื่อยับยั้งไวรัสต่อเนื่องไปได้เป็นเวลานาน เพื่อลดการเกิดการทำลายตับในระยะยาว ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้แก่
 
    1. ยาที่ช่วยกระตุ้นภูมิร่างกายเพื่อทำลายไวรัส ได้แก่ ยากลุ่มอินเตอร์เฟียรอน มีฤทธิ์ทั้งกระตุ้นภูมิต้านทานและยับยั้งไวรัส ในอดีตเป็นยาชนิดฉีดอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นยาที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ขึ้น เรียก เพ็คอินเตอร์เฟียรอน มี 2 ชนิดคืออัลฟาทูเอ (Peg-Interferon Alpha 2a) และอัลฟ่าทูบี (Peg-Interferon Alpha 2b) ออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 1 อาทิตย์ ฉีดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่ระยะของโรค ข้อดีของยาคือไม่เกิดการดื้อยาของเชื้อ แต่ยามีภาวะแทรกซ้อนพอสมควร ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยานี้ไม่สามารถให้ได้ในคนที่มีตับแข็งระยะท้าย(Decompensate) ที่เริ่มมีอาการบวม เหลือง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือในรายที่เกล็ดเลือดต่ำมาก

     2. ยาต้านไวรัสบี ขณะนี้มีหลายชนิด ทุกชนิดใช้วิธีการทานวันละครั้งเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป ภาวะแทรกซ้อนจากยาก็น้อยมาก ระยะนี้ถือว่าเป็นยุคที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในการรักษาไวรัสบี ยาตัวแรกที่ออกมาคือ ลามิวูดีน (Lamivudine) ขณะนี้ใช้รักษาไวรัสบีมาเกิน 8 ปี มีฤทธิ์ยับยั้งทั้งไวรัสบีและเชื้อเอดส์ เกิดเชื้อดื้อยาได้พอควร ประมาณ 15% ต่อปี  ตัวที่ 2 คืออเดโฟเวีย (Adefovir) ขณะนี้ใช้กันมาประมาณ 6 ปี เชื้อดื้อยาค่อนข้างน้อย พบ 18% ที่ 4 ปี ใช้รักษาเชื้อที่ดื้อต่อยาตัวแรกได้ ยาชนิดที่สามคือ เอ็นทิคาเวีย (Entecavir) ยาตัวนี้มีฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัสบีได้สูง ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาชนิดนี้เป็นยาตัวแรกและไม่เคยได้รับลามิวูดีนมาก่อน ขณะนี้ใช้กันมาประมาณ 3-4 ปี) ถ้าใช้ในผู้ที่ดื้อต่อยาลามิวูดีก็จะพบเชื้อดื้อยาได้เร็วขึ้น ยาตัวที่สี่ที่จะเข้ามาคือ เทวบิวูดีน (Telbivudine) ยาตัวนี้มีข้อมูลการใช้มาประมาณ 3 ปี มีฤทธิ์สูงในการยับยั้งไวรัสบีเกือบเท่ากับยาเอ็นทิคาเวีย พบเชื้อดื้อยาในเปอร์เซ็นต์ไม่สูงตั้งแต่ปีแรก ยาที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกในการรักษาไวรัสบีในอนาคตอันใกล้คือ เทโนโฟเวีย (Tenofovir) ซึ่งออกฤทธิ์ได้แรก เกิดเชื้อดื้อยาน้อย และดื้อคนละแบบกับยากลุ่มแรกๆ ใช้รักษาเชื้อเอดส์ได้ ยาอื่นได้แก่ เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) มีฤทธิ์ทั้งต่อไวรัสบีและเอดส์ คงออกมาใช้ร่วมกับเทโนโฟเวียในอนาคต

     การเลือกยาต้านไวรัสที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ระยะของโรค จำนวนไวรัส ชนิดของไวรัสเป็นแบบเชื้อปกติหรือเชื้อดื้อยา ราคา และโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาของยาแต่ละชนิด แนวโน้มของการรักษาในอนาคตอันใกล้คือ การให้ยาอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกันเพื่อลดโอกาสการดื้อยา ส่วนยาชนิดใดจะให้ร่วมกับยาชนิดใด ต้องอยู่ในดุลยพินิจและผลการศึกษาที่จะตามมาในอนาคต
   
     ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะตับแข็งจากไวรัสบี ในยุคนี้ถือว่ายังโชคดีพอควร เพราะสามารถให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ถ้าการรักษาได้ผล โรคตับแข็งมักจะหยุดอยู่ในระยะนั้น เนื้อตับที่อักเสบและแข็งจะค่อยๆดีขึ้น แต่เดิมเชื่อว่าตับแข็งไม่หาย เป็นแล้วรอถึงระยะท้ายอย่างเดียว ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้น มีหลายรายที่เป็นตับแข็งระยะท้ายเข้ารอการเปลี่ยนตับ พอได้ยาต้านไวรัส อาการแทรกซ้อนต่างๆค่อยๆกลับมาดีขึ้นจนไม่ต้องทำการเปลี่ยนับ การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากไวรัสบีที่ได้รับยาลามิวูดีนอย่างต่อเนื่อง สามารถชะลอการแย่ลงของโรตับและลดโอกาการเป็นมะเร็งตับลงไปครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันและอนาคตมียาให้เลือกเพิ่มขึ้นหลายชนิด ทำให้ยิ่งมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น

     ยาต้านไวรัสสามารถใช้รักษาไวรัสบีตั้งแต่ระยะก่อนเปลี่ยนตับไปจนถึงระยะหลังเปลี่ยนตับเพื่อไม่ให้ไวรัสกลับมาใหม่ สูตรยาปัจจุบันในการป้องกันไวรัสบีกลับเป็นใหม่ก็ได้ผลดี โดยการฉีดภูมิต้านทานต่อไวรัสบี หรือที่เรียกว่าอิมมูโนโกลบูลิน (Hepatitis B Immunoglobulin) เป็นระยะๆ ร่วมกับให้ยาต้านไวรัสบีวันละหนึ่งเม็ด ปัจจุบันใช้ยาลามิวูดีน (Lamivudine) แต่ถ้าเกิดเชื้อชนิดดื้อยา ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นตามความเหมาะสม ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีนั้นควรได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในทุกระยะของการติดเชื้อ เพื่อคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค เพื่อติดตามการรักษา และคอยระวังการเกิดมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ

 

    ผลิตภัณฑ์แนะนำ

ทรานเฟอร์ แฟคเตอร์ พลัส ไตร-แฟกเตอร์ (เพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกัน 437% + ไวรัสตับ)

ซุปเปอร์ ดีท๊อกซ์ (ล้างสารพิษในตับ + เสริมสมรรถนะตับ

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2