สธ.พบ 4 เชื้อโรคดื้อยาสูงขึ้น เหตุคนใช้ยาไม่ถูกต้อง

สธ.พบ 4 เชื้อโรคดื้อยาสูงขึ้น เหตุคนใช้ยาไม่ถูกต้อง 

     สธ. เผยไทยพบปัญหาเชื้อโรคที่พบบ่อย 4 ชนิดดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดเพิ่ม 30 เท่าตัว (กระทรวงสาธารณสุข)

      กระทรวงสาธารณสุขเผยในรอบ 10 ปี ไทยพบปัญหาเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดที่พบบ่อยดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดสูงกว่า 30 เท่าตัว เหตุเพราะประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ชอบยาแรง เปลี่ยนยาบ่อย กินยาไม่ครบ

      วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกันกรมควบคุมโรค ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์กำธร มาลาธรรม เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าวการจัดงานวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี ว่า 

      ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ให้ประเทศสมาชิกรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจำหน่ายยา และประชาชนทั่วไป ในการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเน้นหลักการ 2 ขั้น คือ หนึ่งอย่าใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น สองหากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ให้ใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวนานขึ้น เสียเงินค่ารักษาแพงขึ้น เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาแพร่ระบาด โดยกำหนดคำขวัญว่า "ใช้ ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยาเพื่อการรักษาที่ได้ผล" (Combat drug resistance - No action today, no cure tomorrow) 

      สำหรับ ประเทศไทย จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย มานานกว่า 10 ปี ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า เชื้อแบคทีเรียที่มีการดื้อยาสูงขึ้น ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียที่มีปัญหาดื้อยา ได้แก่

     1. เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ที่ ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีดื้อยาเพนนิซิลินเพิ่มจากร้อยละ 47 ในปี 2541 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2553 และดื้อยาอิริโธมัยซินจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 54 และยาตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาทดแทน ขณะนี้เริ่มพบการดื้อยาแล้ว

     2. เชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในช่องท้อง ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้าง คือสามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เพิ่มจากร้อยละ 19 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 52 ในปี 2548และดื้อต่อยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน fluoroquinolone ถึงร้อยละ 60 ยากลุ่มหลังนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่หาซื้อได้ง่าย มีผลข้างเคียงไม่มาก จึงทำให้มีการใช้เกินความจำเป็นอย่างมาก ทั้งในคนและในสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม การดื้อยากลุ่มนี้ จึงเป็นปัญหาอย่างมากต่อการรักษาโรคติดเชื้อ

     3. เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobacter baumannii) เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล พบมีการระบาดของเชื้อชนิดนี้ที่ดื้อยาทุกชนิด ดื้อยากลุ่มคาบาพีเนม ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อได้มากชนิดที่สุด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 63 ในปี 2553 และดื้อยาเซฟโฟเพอราโซน/ซาลแบคแทม ซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาเชื้อนี้จากร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 44 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง          

     4. เชื้อสูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และระบบไหลเวียนโลหิต พบการดื้อยาร้อยละ 20-40

 

     สาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะง่ายขึ้นเกิดจาก 

    1. การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น โรคหวัด และท้องเสีย ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากเชื้อไวรัสไม่ใช่แบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีประโยชน์ในโรคเหล่านี้

     2. การเลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด และแต่ละชนิดจะเหมาะกับการใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ต่างกัน

     3. ประชาชนไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรค และยาปฏิชีวนะ ทำให้กังวลหรือใจร้อน รีบหายาปฏิชีวนะมารับประทาน เปลี่ยนยากินบ่อย หรือกินไม่ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง 

     ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไทยมีการผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา และยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในปี 2550 มีมูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด

     สำหรับการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล โดยให้ใช้เท่าที่จำเป็นตามสภาพปัญหาการเจ็บป่วย ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในโรงพยาบาล และตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพระดับชาติ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ต้านจุลชีพ และฝึกอบรม รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านข้อมูลและเทคนิคทางห้องปฏิบัติการแบคทีเรียแก่สมาชิก ในประเทศ และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากนี้ ยังมีโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล หรือ Antibiotics Smart Useโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย

     "การ ป้องกันแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาที่ดีที่สุด ก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม หยุดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะหากใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่นานเชื้อก็จะปรับตัวให้ดื้อยา และในที่สุดอาจไม่มียาใดรักษาได้ จึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ให้ซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด และหากจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ยารักษาวัณโรค โรคเอดส์ และมาลาเรีย หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ จะต้องกินให้ครบถ้วน ถูกต้องตามแพทย์ที่สั่ง" ดร.พรรณสิริ กล่าว

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ทรานสเฟอร์ แฟคเตอร์ พลัส ไตร-แฟคเตอร์ เพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกัน 437%

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2