กระดูกพรุน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องดูแล ก่อนจะสายเกินไป

กระดูกพรุน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องดูแล ก่อนจะสายเกินไป 

     เชื่อหรือไม่! ปัจจุบันอุบัติการณ์โรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก และอายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนเริ่มน้อยลง ใครที่เคยคิดว่าโรคกระดูกพรุนเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นคงต้องคิดใหม่

   นอกจากสถิติที่น่าเป็นห่วงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติยังเปิดเผยว่า ภาวะกระดูกพรุนทำให้ทุก 3 วินาที มีคนกระดูกหัก และทุก 22 วินาที มีคนกระดูกสันหลังหัก สำหรับคนไทย มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ พบว่าในกลุ่มผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ผู้หญิง 1 ใน 3 คน และผู้ชาย 1 ใน 5 คน มีปัญหากระดูกพรุน และแต่ละคนต้องสูญเสียค่ารักษาเฉลี่ยถึงปีละ 3 แสนบาท1 ฟังดูแล้วถือว่าน่าตกใจไม่ใช่น้อย สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ (Nutrilite Health Institute) เล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพกระดูก จึงสนับสนุนให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงเพราะคนไทยส่วนใหญ่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่ถึงครึ่งของปริมาณขั้นต่ำที่ร่างกายต้องการต่อวัน บวกกับพฤติกรรมทำร้ายกระดูกต่างๆ ยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพกระดูกเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญ

     โรคกระดูกพรุน เกิดจากการที่แคลเซียมสลายออกจากกระดูกมากกว่าการสร้างมวลกระดูก ทำให้ความหนาแน่นในกระดูกลดลง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระดูก ส่งผลให้รูพรุนที่มีอยู่เป็นปกติในเนื้อกระดูกสลายตัวออกจนรูพรุนกว้างขึ้น กระดูกบางลงจนไม่สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกได้ตามปกติ กระดูกจึงหักได้ง่าย โรคนี้จะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ โดยกว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีการแตกหักของกระดูก หรือได้รับการกระแทกเพียงเบาๆ กระดูกก็หักแล้ว บางรายถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เนื่องจากเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา

   นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยยุวัฒน์ เปิดเผยว่า "องค์การอนามัยโลก รายงานว่า สถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุข อันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด2 โดยอายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ กระดูกพรุนเป็นปัญหาสุขภาพที่คนไทยมักมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง แคลเซียมถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของกระดูก และการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในทุกช่วงวัยจะทำให้เสี่ยงที่จะประสบกับภาวะกระดูกแตกหรือกระดูกร้าวได้เมื่อสูงอายุขึ้นเพราะโรคกระดูกพรุนไม่มีอาการบ่งชี้ในช่วงเริ่มต้น จนเมื่อรู้ตัวอีกทีก็มักจะสายเสียแล้ว"

     "เป็นที่น่ากังวลว่า คนไทยรับประทานแคลเซียมน้อยมาก เฉลี่ยเพียงวันละ 361 มิลลิกรัม3 จากความต้องการต่อวันคือ 800 - 1,000 มิลลิกรัม4 ปัจจุบันยังพบว่าประชากรวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหา

     ความผิดปกติอันเกี่ยวเนื่องกับกระดูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยเสี่ยงที่มักพบบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ท่านอน นั่ง ยืน หรือแม้แต่การยกของหนัก แฟชั่นที่อาจเป็นอันตรายต่อกระดูก เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ และบริโภคเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ ตลอดจนความนิยมการมีผิวขาวของผู้หญิงเอเชียก่อให้เกิดพฤติกรรมการหลบเลี่ยงแสงแดด ซึ่งเป็นแหล่งในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม การบริโภคอาหารไม่ถูกสัดส่วน และขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกระดูก และอาจเกิดโรคกระดูกในที่สุด" นพ.สมบูรณ์กล่าวเพิ่มเติม

     กระดูกเป็นอวัยวะที่มีชีวิตโดยมีเซลล์หลัก 2 ชนิด ชนิดแรกมีหน้าที่สลายกระดูกเรียกว่า Osteoclast และอีกชนิดหนึ่งมีหน้าที่สร้างกระดูกใหม่เรียกว่า Osteoblast ซึ่งเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยช่วงเวลาของการสร้างและสลายกระดูกแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1.) ช่วงการสร้างมวลกระดูกเริ่มต้นเมื่อแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 30 ปี 2.) ช่วงการคงมวลกระดูกเมื่ออายุ 30 - 45 ปี 3.) ช่วงการสลายมวลกระดูกเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป โดยการสร้างกระดูกใช้เวลานานถึง 4 เดือน ในขณะที่แคลเซียมปริมาณเท่ากันถูกดึงออกจากกระดูกในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น การได้รับแคลเซียมจากอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กจนวัยชราจะช่วยดูแลสุขภาพของกระดูกได้ดี และช่วยลดความเสี่ยงของปัญหากระดูกบางปัญหาได้ โดยช่วงอายุที่กระดูกดูดซึมแคลเซียมได้ดีที่สุดคือ 18 - 30 ปี

     นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เผยว่า "แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุดคือ การมีโภชนาการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกระดูกที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการต่อวันจะช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แร่ธาตุอื่นๆ ได้แก่ สังกะสี ทองแดง แมงกานีส เป็นองค์ประกอบรวมที่ช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพกระดูกด้วยเช่นกัน และรวมไปถึงสารสกัดเข้มข้นอัลฟัลฟา ที่นอกจากจะมีแร่ธาตุแล้ว ยังมีไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิดที่ให้ผลดีต่อเมทา- บอลิซึมของสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูกอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาเสริมแคลเซียมและสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพกระดูกตั้งแต่วัยเด็กหรือหนุ่มสาวในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละช่วงวัยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต นอกเหนือจากการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามโภชนาการแล้ว แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด คือการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง การออกแดดในช่วงเช้า และเย็น และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการทำลายกระดูกต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ชา หรือกาแฟ ก็จะมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพของกระดูกให้แข็งแรงได้

     ปัญหาสุขภาพกระดูกไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราทุกคนมีโอกาสประสบกับโรคกระดูกพรุนได้ อาจไม่ใช่ในวันนี้ แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำร้ายกระดูกจะส่งผลอย่างแน่นอนในอนาคต ยังไม่สายเกินไปที่เราจะหันมาดูแลสุขภาพกระดูกของตนเองและคนที่เรารักเช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อกระดูกแข็งแรงอยู่กับเราไปอีกนานเท่านาน

 

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ซีเอ็ม (CM) : เสริมสร้างกระดูก, ป้องกันโรคกระดูกพรุน

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2