ไขปริศนา "อีโบล่า" ไวรัส..ไข้เลือดออกพันธุ์ดุ!

ไขปริศนา "อีโบล่า" ไวรัส..ไข้เลือดออกพันธุ์ดุ!

     ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า เหตุการณ์ในหนังว่าด้วยมหันตภัยไวรัสล้างโลก ที่เคยสร้างความตื่นเต้น สะเทือนขวัญให้ผู้ชมภาพยนตร์หลายเรื่องๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆไม่กี่ปีอย่าง “Carriers เชื้อนรกไวรัสล้างโลก” ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์ที่มีโรคระบาดร้ายแรงมาก อาการของโรคเริ่มจากค่อยๆมีผื่นแดงๆขึ้นมา ไอเป็นเลือด เลือดออกจากรูต่างๆ คนที่ติดเชื้อไม่มีทางรักษา ได้แต่รอวันตายหลังจากรับเชื้อภายใน 3-7 วัน จะกลายมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆได้

     25 มีนาคม 2557 องค์การอนามัยโลก ได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศกินี ว่า มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอีโบล่าในเขตป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ณ วันที่มีการรายงานนั้นมีผู้ป่วยแล้ว 86 ราย ตาย 60 ราย ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขป่วยรวมอยู่ด้วย 4 ราย

     รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า มีรายงานผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยในประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศกินีอีกหลายราย กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนและชันสูตรโรค โดยประเทศที่ว่านั้น ได้แก่ ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน ซึ่งหลังจากส่งเลือดตัวอย่างไปชันสูตร โดยวิธี PCR ที่หอชันสูตรโรคติดเชื้อระหว่างประเทศที่เมืองลียอง ประเทศฝรั่งเศส ก็ยืนยันชัดเจนว่า เป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า สายพันธุ์ซาอีร์

     ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิต ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ส่งข้อมูลเอกสารชุดใหญ่ เล่าเรื่องไวรัสอีโบล่า อย่างละเอียดและน่าสนใจ ว่า ไวรัสอีโบล่า มีการระบาดครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2519 ถือเป็นไข้เลือดออกชนิดใหม่ที่อุบัติใหม่ขึ้นในโลกที่ประเทศซูดานและประเทศซาอีร์ ชื่ออีโบล่า มาจากชื่อแม่น้ำที่อยู่ตรงบริเวณที่พบโรคในตอนเริ่มแรก คือ แถบลุ่มแม่น้ำอีโบล่า ในประเทศซาอีร์ จึงตั้งชื่อโรคและชื่อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคว่า “อีโบล่า”

                                                คนติดเชื้ออีโบล่า

     คุณหมอประเสริฐ อธิบายว่า ไข้เลือดออกอีโบล่า ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง พบผู้ป่วยรายแรกของโลก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ผู้ป่วยเป็นชาย อายุ 44 ปี ไปขอรับการรักษาที่ รพ.มิชชั่นนารียัมบูกุ ด้วยอาการที่คิดว่าเป็นไข้จับสั่น (มาลาเรีย) และได้รับการรักษาโดยการฉีดคลอโรควิน ทำให้อาการทุเลา ในเวลาต่อมาภายใน 1 สัปดาห์ มีคนไข้ใน รพ.เดียวกันได้รับการฉีดยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนไข้รายดังกล่าว และ หลังจากนั้นก็มีคนป่วยเป็นโรคไข้ เลือดออกอีกหลายคน บางรายไม่ได้รับการฉีดยาแต่เป็นผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

     หลังจากนั้น รพ.ได้ปิดการให้บริการ เนื่องจากแพทย์ 11 คน จากทั้งหมด 17 คน ที่ปฏิบัติงานใน รพ.แห่งนี้ป่วยและตาย โดยส่วนใหญ่จะป่วยอยู่ระหว่าง 4 สัปดาห์แรกของการระบาด

     จึงอาจกล่าวได้ว่า โรคนี้แพร่โรคติดต่อกันได้จากการสัมผัส เรียกว่า มีการแพร่ติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกเด็งกี่ในบ้านเราที่ติดต่อจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด

     “หลังการพบการระบาดครั้งแรก ได้มีการศึกษาลักษณะทางเวชกรรมของผู้ป่วย 14 ราย พบว่าผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง เจ็บคอ หน้าตาไร้ความรู้สึก มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ในบางรายประมาณวันที่ 5 ของระยะเฉียบพลันของโรค จะมีผื่นขึ้นตามตัวและมีเลือดออกด้วย โดยมีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีแผลตามริมฝีปากและในช่องปาก มีเลือดออกจากแผลดังกล่าว ออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกจากช่องหู ปัสสาวะเป็นเลือด ในรายที่มีเลือดออกมักจะเสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์” คุณหมอประเสริฐ บอก พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า หลังการระบาดในเดือนสิงหาคม ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน แพทย์สามารถแยกเชื้อไวรัสที่มีรูปร่างคล้ายไวรัสมาร์บวร์ก แต่แสดงความแตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยปฏิกิริยาน้ำเหลือง ไวรัสที่พบใหม่นี้ ตั้งชื่อตามบริเวณที่ระบาดว่า “อีโบล่า” และพบที่ประเทศซาอีร์ จึงเรียกว่า ไวรัสอีโบล่าสายพันธุ์ซาอีร์

     ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ บอกด้วยว่า การระบาดของโรคลดความรุนแรงลงเมื่อมีการหยุดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มีมาตรการแยกกักกันผู้ป่วยมิให้ออกนอกหมู่บ้าน มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างมิดชิด มีการกำจัดวัตถุปนเปื้อนเชื้ออย่างถูกวิธี ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่อไปอีกได้ ซึ่งในเวลานั้น ทางการแพทย์สรุปได้ว่า การติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อทางเลือด การติดจากละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลายอาจเกิดขึ้นได้ แต่มีโอกาสน้อยกว่า และไม่ติดกันทางอากาศหายใจ                                           

     ต่อมามีการระบาดของโรคอีกหลายครั้ง ทั้งในประเทศซูดาน มีผู้ป่วยถึง 284 คน อัตราป่วยตายร้อยละ 53 แยกเชื้อตรวจวิเคราะห์เป็นเชื้อที่มีความจำเพาะจึงเรียกชื่อว่า “อีโบล่า-ซูดาน” ไม่กี่เดือน

ต่อมา มีการระบาดอีกครั้งที่ประเทศซาอีร์ เป็นสายพันธุ์เดิม คือ อีโบล่า-ซาอีร์ มีผู้ป่วย 318 ราย

     ปี 2532 มีการระบาดของไวรัสอีโบล่าในฝูงลิงแสมที่กักกันสัตว์ทดลองที่ไปจากต่างประเทศ ที่สถานีกักกันโรคเมืองเรสตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นลิงแสมที่ส่งไปจากฟาร์มเฟอร์ไลต์ ชานกรุงมะนิลา บนเกาะมินดาเนา ในระหว่างกักกันลิงได้ล้มป่วยลงหลายตัวเกือบทั้งฝูง และมีอัตราตายสูง สอบสวนและชันสูตรโรคพบว่าเป็น “ไวรัสอีโบล่า” ลิงที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมาก มีอัตราการตายสูง มีการแยกเชื้อและเรียกเชื้ออีโบล่านี้ว่าเป็น “อีโบล่า–เรสตัน”

     ปี 2537 มีการระบาดของไข้เลือดออกอีโบล่า รายงานจากประเทศไอวอรีโคสต์ โดยมีสตรี นักชาติพันธุ์วิทยา ทำการผ่าตรวจซากลิงชิมแพนซีที่ล้มตายไม่ทราบสาเหตุในป่า ชื่อว่า Tai Forest ในประเทศไอวอรี–โคสต์ และติดเชื้อ เป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ชื่อว่า “อีโบล่าโกตดิวัวร์” หรือชื่อประเทศไอวอรีโคสต์ในภาษาฝรั่งเศส

     “สำหรับสายพันธุ์เรสตันเมื่อประมาณ 2-4 ปีก่อน มีรายงานการระบาดของโรคในสุกรฟิลิปปินส์ ซึ่งยังคงเป็นปริศนาว่า ไวรัสอีโบล่าข้ามจากลิงไปหาสุกรได้อย่างไร” คุณหมอประเสริฐ ทิ้งท้ายไว้เป็นปริศนา

     มีการระบาดของโรคไวรัสอีโบล่า อีกหลายครั้งในอีกหลายประเทศ เช่น ยูกันดา ในปี 2543 ป่วย 425 ราย ตาย 224 ราย, ปี 2552 ระบาดในประเทศกาบองและประเทศสาธารณรัฐคองโก จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2554 มีรายงานว่ามีผู้ป่วยอีโบล่าทั้งสิ้น 1,850 ราย เสียชีวิต 1,200 ราย อัตราการตายคิดเป็นร้อยละ 64

     ปี 2557 อีโบล่ากลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศกินี และประเทศใกล้เคียง ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 องค์การอนามัยโลก รายงานว่า พบผู้ป่วยในประเทศกินีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 208 ราย ตาย 136 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 25 ราย เสียชีวิต 16 ราย

     สำหรับประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้ออีโบล่า และไทยก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ต่ำ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การติดตามสถานการณ์จากองค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาดของโรค 2.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ 3.หากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส สำคัญที่สุด คือ ยังไม่มียา หรือวัคซีนในการรักษาโรคนี้ ทางที่ดีที่สุด คือเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด.

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 10 พค. 2557

 

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ทรานสเฟอร์ แฟกเตอร์ พลัส ไตร-แฟกเตอร์ : เพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกัน 437%  

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2